วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

“แม่ดึ๊” แห่งสาละวิน โดย ไพรินทร์ เสาะสาย

กลางฤดูฝนแห่งเดือนสิงหาคม ผืนแผ่นดินที่โอบล้อมด้วยภูเขาก็ชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนที่แทบจะไม่เคยขาดเม็ด หลังจากที่เราใช้เวลาในห้องเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สถานการณ์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง โดยมีเพื่อนๆจากประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ คือ ลาว พม่า จีน เวียดนาม กัมพูชา และไทย จำนวน 12 คน มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันที่เชียงใหม่

หลังจากที่เราใช้เวลาเดือนกว่าๆรู้จักสถานการณ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็มีโอกาสช่วงเวลา 3 วันในฤดูฝน ไปที่ “บ้านแม่ดึ๊” ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตชายแดนระหว่างไทยและพม่า เป็นหมู่บ้านที่ตกสำรวจ ชาวบ้านไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีบ้านเลขที่ จึงไม่ถูกระบุอยู่ในสารระบบของหมู่บ้าน สิ่งสำคัญของพวกเราที่ต้องจดจำก่อนเดินทางมาที่แม่น้ำสาละวิน คือ “ห้ามเอ่ย” หรือ พูดอะไรเกี่ยวกับ “แม่น้ำโขง” แม้แต่ชื่อก็ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะผู้คนแถบลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อว่า แม่น้ำทั้งสองมีความขัดแย้งกัน ตามตำนานเล่าถึงการเกิดของแม่น้ำโขง(ลานซาง)และแม่น้ำสาละวิน(นูเจียง) ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนจึงตัดสินใจเดินทางมาพร้อมกันจากทิเบต แข่งกันว่าใครจะไปถึงทะเลก่อนกันโดยมีกติกาว่า ห้ามไหลผ่านภูเขา ปรากฏว่า แม่น้ำสาละวินไหลถึงทะเลก่อนแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจึงกล่าวว่า แม่น้ำสาละวินผิดกติกาเพราะไหลตัดผ่านภูเขา แม่น้ำสาละวินก็ว่าแม่น้ำโขงผิดกติกาไหลผ่านภูเขาเช่นกัน ทั้งสองจึงโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ไม่สามารถลงรอยกันได้ กลายเป็นเรื่องเล่าและความเชื่อของชาวบ้านที่อยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อว่า หากเอ่ยถึงชื่อ “แม่น้ำโขง”ขณะที่อยู่ที่ “แม่น้ำสาละวิน” จะต้องประสบกับความโชคร้าย เรือจะพลิกคว่ำหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางได้ และเชื่อว่า “หากเอาแม่น้ำสองสายมาผสมกันจะทำให้เกิดหายนะอย่างยิ่งใหญ่” แต่ที่เรารู้ก็คือว่า ในชาวบ้านสองฟากฟั่งแม่น้ำโขงไม่เคยมีเรื่องเล่าและความเชื่อแบบนี้เลย

พวกเราทั้ง 15 คนเดินทางด้วยรถตู้ออกจากเชียงใหม่ตั้งแต่เช้ากว่า 300 กิโลเมตร เรามาถึงอำเภอแม่สะเรียง เกือบบ่ายโมง ไม่มีเวลาสำหรับการเดินเที่ยวสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของเมืองเล็กๆที่มีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติแห่งนี้ โชคดีที่ตรงข้ามร้านอาหารมีแผนที่ท่องเที่ยวที่เป็นภาพวาดทำให้เราได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอำเภอเล็กแห่งนี้ ริมแม่น้ำปาย มีเกสต์เฮ้าหลายแห่งหลากราคา ตามความสมัครใจและน้ำหนักกระเป๋าเงินของนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็น แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา ล่องแก่ง หมู่บ้านชนเผ่า ฯลฯ แต่สิ่งที่แปลกตาเรามากที่สุดคือ วัด ที่เป็นศิลปกรรมแบบพม่า(ไทยใหญ่) ดูยิ่งใหญ่และสวยงามแตกต่างกับวัดในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง
หลังอาหารเที่ยงที่อร่อยล้ำด้วยเมนูปลาแม่น้ำและผัดซาโยเต้สุดฮิต เราก็ออกเดินทางจากตัวเมืองแม่สะเรียงไปยัง “บ้านแม่สามแลบ” กว่า 42 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยความชุ่มชื่น ชุ่มฉ่ำของสายฝนจนเราต้องปิดแอร์ภายในรถเปิดกระจกออกเพื่อสูดกลิ่นหอมของภูเขาและทุ่งข้าวที่เขียวขจีสองข้างทาง ระหว่างทางเราคุยกับ “ คุน ชังกี”เพื่อนชาวพม่าซึ่งเป็นชนเผ่า “ปะโอ” หรือ “ตองสู” เรื่องความแตกต่างระหว่างหมู่บ้านของเขาที่รัฐฉานกับที่นี่ เขาเล่าว่าแตกต่างกันมาก หมู่บ้านของเขาอยู่กลางหุบเขา ภูเขาสูงชันและทำข้าวไร่ไม่ได้ทำนาบนที่ราบแบบนี้ แถมติดตลกว่า “ภูเขาที่บ้านผมอ้วนกว่าภูเขาที่นี่ เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย”
ตลอดเส้นทางที่คดเคี้ยวขึ้นเขา ลงห้วยกว่า 40 กิโลเมตร สองข้างทางเป็นทั้งทุ่งนาเขียวขจี ภูเขากระ หล่ำปลี แม่น้ำสายเล็กๆและ “ฝายน้ำล้น” ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะไกลหรือลึกแค่ไหน แม่น้ำก็ขาดเสรีภาพอยู่เช่นเดิม หลักกิโลเมตรบอกระยะทาง “แม่สามแลบ 3 กม.” ถนนเริ่มแคบลงทำให้เรารู้สึกได้ว่าเริ่มใกล้ถึงที่หมายแล้ว “บ้านแม่สามแลบ” เป็นเขตชายแดนระหว่างพม่าและไทย มีบ้านของผู้คนตั้งเรียงรายริมถนน เป็นทั้งบ้านและร้านขายของ คนในหมู่บ้านเป็นชาวปะกากญอ เป็นท่าจอดเรือขนส่งสินค้าระหว่างพม่าและไทย มีสำนักงานอุทยานแห่งชาติสาละวินและหน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ฝั่งไทย ส่วนฝั่งพม่าเป็นเขตควบคุมของรัฐบาลทหารของพม่า “ชังคี” เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเป็นเขตของกลุ่มทหาร KNU (Karen National Union) เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังทหาร KNUและทหารพม่าและฝ่ายทหารพม่าเป็นฝ่ายชนะ กลุ่มKNUต้องถอยออกไปและทิ้งเครื่องมือ เครื่องจักรกลสำหรับการตัดไม้และทำถนนไว้มากมายจมอยู่ใต้ผืนน้ำสาละวินแห่งนี้ เพราะฉะนั้นฝั่งตรงข้ามของแม่สามแลบจึงเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังทหารพม่าฝ่าย SPDC(State Peace Development Council)
การเดินทางของพวกเราในครั้งนี้มี “ไผ่” หรือ เพียรพร ดีเทศน์ จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEARIN) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน น้องๆในโครงการเป็นผู้นำทางพาเราไปยังบ้านแม่ดึ๊ ด้วยเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกคนได้ประมาณเกือบ 30 คน ล่องทวนแม่น้ำสาละวินขึ้นไปทางทิศตะวันตก
แม่น้ำสาละวินในฤดูฝนช่างน่ากลัวน่าเกรงขามยิ่งนัก แม่น้ำสีแดง ไหลเชี่ยวกรากมาก ใต้ผืนน้ำกว่า 40 เมตร เต็มไปด้วยแก่งหินขนาดใหญ่ สังเกตได้จาก “กระแสน้ำ” บริเวณนั้นจะไหลเชี่ยวกราก คนขับเรือและนายท้ายจะต้องรู้จักเส้นทางอย่างดีเพื่อที่จะขับเรือฝ่าขึ้นไปให้ได้ ตลอดสายน้ำที่เราล่องขึ้นก็มีเศษขอนไม้ลอยตามน้ำมาเป็นระยะๆ สองฝากฝั่งเป็นภูเขาสูงขนาบทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า แตกต่างกันตรงที่ภูเขาฝั่งพม่าดูอุดมสมบูรณ์กว่าฝั่งไทยมาก เพราะไม่มีคนอยู่อาศัยและเป็นพื้นที่สู้รบกันมาก่อน ภายใต้ผืนป่าอันเขียวขจีนั้นบางแห่งเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินหรือ “Landmine” สองฟากฝั่งมีหมู่บ้านกลุ่มเล็กกระจายอยู่เล็กน้อยตามริมฝั่ง เราผ่านจุดด่านตรวจของตำรวจไทย ที่บ้านท่าตาฝั่งในเขตของไทยเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
กว่า 2 ชั่วโมง เราก็มาถึงบ้านแม่ดึ๊ เกือบ 5 โมงเย็น ชาวบ้านและเด็กๆมายืนรอรับ ยิ้มทักทายพวกเราพร้อมกับกุลีกุจอเข้ามาช่วยถือของแบกของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเราตื่นเต้นทำอะไรไม่ถูกกัน สิ่งแรกที่ทำคือ ยิ้ม เพราะเราพูดภาษาปกากะญอไม่ได้ เราเดินผ่านหมู่บ้านที่ปลูกด้วยไม้ไผ่แบบเรือนผูก ที่เรียงรายระหว่างทางเดิน ไปยังบ้านครูประจำโรงเรียนเพื่อแบ่งกลุ่ม พักบ้านของชาวบ้าน โดยมีเกณฑ์สำคัญคือ บ้านที่อยู่ใกล้ห้องน้ำที่สุดนั่นเอง พร้อมกับการแจกจ่ายอาหารแห้ง ข้าวสารและน้ำ สำหรับการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านตลอดเวลา 3 วัน เพราะชาวบ้านไม่ได้มีอาหารเพียงพอสำหรับพวกเรา
“บ้าน” ที่เราอยู่ด้วยเป็นร้านขายของชำประจำหมู่บ้านเจ้าของบ้านชื่อ “ทาเคือแป” สามีของเธอไปขับเรือที่บ้านแม่สามแลบยังไม่กลับมา เธอมีลูก 3 คนเป็นหญิง 2 คนและชาย 1คน และมีน้องสาวอยู่ด้วยอีก 1 คน เธอมีบ้าน 2 หลัง อีกหลังหนึ่งเป็นครัว ใต้ถุนบ้านเป็น “ครก” (ภาษาอีสานเรียกว่า ครกมอง) ตำข้าว ที่เก็บฟืน ข้างๆเป็นคอกหมูพื้นบ้าน อีกหลังเป็นร้านขายของห้องนอน กลุ่มเรามี 4 คน คือ “ฮู จิง(Hu Jing)” เพื่อนชาวจีน “ลาน(Lanh) และอัน(Anh)” เพื่อนชาวเวียดนาม อากาศเริ่มเย็น ความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามา พวกเรารีบไปอาบน้ำ ที่ลำห้วยกลางหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันทั้งหมู่บ้านโดยใช้ไม้ไผ่แทนท่อประปาที่เราคุ้นเคย ทำให้เราตื่นเต้นกับการอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติ น้ำเย็นๆจากลำห้วยทำให้เราสดชื่นขึ้นมาทันที หลังอาบน้ำเราก็ต้องรีบกินข้าวเย็นเพราะหมู่บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพียง 1 ทุ่มเศษก็มืดสนิทแล้ว อาหารของเราเป็นฝีมือของคนเวียดนามคือ “แกงจืดใส่แหนม” รสชาติแปลกๆ แต่ก็ต้องกินแบบไม่ต้องคิดมาก คืนแรกที่บ้านแม่ดึ๊เราต้องนอนแต่หัวค่ำเพราะธรรมชาติบังคับ แต่เราก็นอนหลับไปโดยไม่รู้ตัว

“ เว่ยจี” ผู้กำหนดชะตากรรม แม่ดึ๊
เช้าวันใหม่เราตื่นแต่เช้าอากาศเย็นสบาย บนยอดภูเขาสูงมีหมอกหนาคลุมอยู่ยังไม่คลายตัว สีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ที่ยังไม่คลายความชุ่มชื้นจากหยดน้ำฝนที่ตกปรอยในตอนเช้า สวยจนต้องยืนชื่นชมอยู่เป็นนาน น้องสาวเจ้าของบ้านหุงข้าวไว้ให้แล้วก็ออกไปไร่ตั้งแต่เช้า วันนี้พวกเรามีโอกาสออกไปดูพื้นที่จะสร้างเขื่อน “เว่ยจี” โดย “ไผ่”และทีมเป็นผู้นำทาง เราเดินทางด้วยเรือลำเดิม ล่องทวนขึ้นไปเหนือน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง พวเราหยุดเรือบริเวณที่มีหาดทรายและนั่งลงคุยกัน โดยมีเอ็นจีโอชาวพม่าคือ KRW (Karen River Watch) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย เมื่อเราได้พูดคุยกันเรื่องเขื่อนที่จะเกิดขึ้น เรากับเพื่อนๆ ได้แต่ยืนมองภูเขาเบื้องหน้าและคุยกันว่า “ถ้าหากว่าเขื่อนถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ มันคงสูงเท่าภูเขาเบื้องหน้าเราแน่ๆ เลย แล้วชาวบ้านที่ซ่อนตัวอยู่สองฝั่งทั้งไทยและพม่าจะอยู่อย่างไร ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

“ภูเขาข้าวไร่” ความมั่นคงอาหารและชีวิต
วันต่อมาพวกเรามีโอกาสไปเที่ยวไร่ข้าวของชาวบ้าน เราต้องห่อข้าวด้วยใบตอง เตรียมขวดน้ำ ใส่ตระกร้าให้เราสะพายไปไร่ เพื่อไปดูแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านแม่ดึ๊ สองข้างทางเป็นร่องรอยการทำข้าวไร่ของชาวบ้านมาก่อน ชาวบ้านที่นี่ทำข้าวไร่แบบหมุนเวียน ทุกๆ ๕ ปีจะกลับมาที่เดิม พึ่งรู้ว่าการเดินขึ้นภูเขามันเหนื่อยมาก จนหายใจแทบไม่ทัน ขบวนของพวกเราที่เดินมาตั้งแต่แรก เริ่มขาดห้วงเป็นตอนๆ กว่า 40 นาทีที่เดินและแล้วก็มาถึงจุดหมายปลายทางไร่ข้าวเขียวขจีกว่า 10 ไร่ โอ้โห้ สีเขียวสุดๆลูกหูลูกตา ไกลจนเราอยากจะเรียกว่า “ภูเขาข้าวไร่” ซะมากกว่า สีเขียวของไร่ข้าวทำให้เราหายเหนื่อยไปทันที นั่งพักสักครู่แล้วก็เริ่มคิดในใจว่า ทำไม “มนุษย์” ถึงมีพลังมากมายขนาดนี้ คิดค้นหาวิธีการการอยู่รอดของชีวิต
หลังจากนั่งพักเหนื่อย เราก็คุยกันเรื่องการทำข้าวไร่ โดยมี “พ๊ะดีดี” หนุ่มน้อยชาวปะกากะญอ ครูของเด็กๆ เป็นผู้ช่วยสื่อสารกับชาวบ้านให้เรา ข้าวไร่ของชาวบ้านเป็นพันธุ์พื้นบ้านทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว พร้อมกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ สลับอยู่ระหว่างหลุมข้าวประมาณ 100 ชนิด กลายเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่งจริงๆ ข้าวที่ชาวบ้านปลูกจะมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันออกไป บางพันธุ์อายุสั้นเพียง 3 เดือน ก็เก็บเกี่ยวที่อีสานเรียกว่า “ข้าวดอ” (ข้าวอายุสั้นที่เก็บเกี่ยวก่อนฤดูเก็บเกี่ยว) ส่วนบางพันธุ์ใช้เวลา 6-7 เดือนจึงเก็บเกี่ยว การทำข้าวไร่ขึ้นอยู่กับกำลังแรงงานและความพอเพียงสำหรับทุกคนในครอบครัวในรอบปี หากบางปีข้าวไม่พอกินก็ขอยืมเพื่อนบ้านกินก่อนได้ หรือต้องหาหน่อไม้ ปลา ไปแลกกับเพื่อนบ้านโดยเดินข้ามภูเขาไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
“การปลูกข้าวไร่” ของชาวบ้านที่นี่ก็เต็มไปด้วยความเชื่อที่สั่งสมและสืบทอดกันมาหลายชั่วคน คอยควบคุมผู้คนให้ทำการผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติได้ เช่น พิธีกรรมการเลี้ยงผีห้วย เลี้ยงผีป่าผู้ศักดิ์สิทธิ์ให้คอยดูแลคุ้มครองชีวิตและคุ้มครองข้าวของชาวบ้าน ,พิธีการทดลองปลูกข้าว 7 หลุม หากข้าวงอกทั้ง 7 หลุมแสดงว่า เจ้าป่าเจ้าเขาอนุญาตให้ปลูกข้าวในพื้นที่แห่งนั้นได้อุดมสมบูรณ์ ถ้าหากไม่ขึ้นทั้ง 7 หลุมและมีคนฝืนปลูก ก็จะต้องพบกับความเจ็บป่วยโชคไม่ดีและอาจถึงตายได้ ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีของชาวบ้านจะใช้ “ไก่” เป็นหลัก หากเป็นช่วงแรกระหว่างการปลูกข้าวต้องใช้ไก่ประมาณ 6 ตัว หรือถ้าหากมีหมูก็ใช้หมู ร่วมกับไก่ก็ได้ ไม่แปลกใจที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะเลี้ยงหมู่และไก่ไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนกินข้าวเที่ยงเราคุยกันมากมายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้งเรื่องเขื่อนที่กำลังจะสร้างและพวกเขาต้องต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
พ๊ะตี พะเมียว บอกว่า “พวกเรารู้ว่าเขาจะสร้างเขื่อน แต่เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พวกเราเหมือนคนไม่สิทธิ์ ถึงอยู่แผ่นดินไทยแต่ก็ไม่มีบัตรประชาชน ไม่อยากจะย้ายไปอยู่ที่ไหนอีกแล้ว ถึงแม้ว่าเค้าจะหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้มีไฟฟ้าใช้ มีบ้านให้อยู่ใหม่ ก็คงไม่อยากเอา เพราะไฟฟ้ามันกินไม่ได้ ไฟฟ้าที่จะผลิตก็จะส่งไปให้คนเมือง พวกเราคงไม่มีทางได้ใช้แน่นอน หากเขื่อนสร้างมาจริงๆ เราก็คงจะต้องยอมตายอยู่ที่นี่ไม่ย้ายไปไหนอีกแล้ว ความสุขของเราคือ การได้อยู่แบบนี้ ได้อยู่ร่วมกัน ตื่นเช้ามาได้ไปไร่ อยู่กับธรรมชาติ คือ สิ่งที่มีความสุขที่สุดแล้ว”
อาหารเที่ยงของเราในวันนั้นเป็นอาหารธรรมชาติหม้อใหญ่คือ ต้มหน่อไม้ใส่เห็ดหรือ “กือ” ใส่เกลือนิดหน่อยแต่อร่อยนักแล พวกเรากินข้าวกันกลางทุ่งข้าวที่เขียวขจีด้วยความเอร็ดอร่อย จนแกงหมดหม้อ “ไผ่”และน้องๆ เสนอว่าตอนเย็นเราน่าจะได้กินข้าวเย็นกับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน โดยมีหมูพื้นบ้านตัวโตต้มใส่ผงกระหรี่หอมๆ เป็นอาหารเย็น ชาวบ้านมาเกือบหมดทั้งหมู่บ้านจริง เป็นเด็กๆครึ่งหนึ่งผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่ง หลังอาหารเย็นเรา ได้มอบอุปกรณ์การเรียน ทุนการศึกษาสำหรับพัฒนาโรงเรียนให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนการแสดงระหว่างเด็กๆ บ้านแม่ดึ๊ เพื่อนๆ จากลุ่มน้ำโขงร้องเพลง ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ด้วยตะเกียงเพียงดวงเดียวกับดาวบนฟ้านับล้านดวง
ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการเล่น “เตหน่า”ของ “หนุ่มดู” หนุ่มน้อยปะกากะญอที่มือสวยแถมเล่นเตหน่าเก่งอีกต่างหาก ด้วยเพลง “เดือนเพ็ญ” ภาษาปะกากะญอ เราก็ร้องเป็นภาษาไทยแบบกะท่อนกะแท่น คืนนั้นพวกเราทุกคนเต็มไปด้วยความสุข ความทรงจำที่ดี นอนฟังเสียงลำห้วยกลางหมู่บ้านที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ที่ดังคล้ายเสียงฝนตกจนหลับไปไม่รู้ตัว
วันสุดท้ายพวกเราตื่นแต่เช้า ร่ำลาห้องน้ำธรรมชาติด้วยการอาบน้ำตอนเช้าตั้งแต่ 6 โมงเช้า เตรียมตัวออกเดินทาง คิดว่าคงไม่กินข้าวเช้า แต่พี่สาวเจ้าของบ้านใจดีทำอาหารให้กินตอนเช้าเป็น “หมูต้มผงกระหรี่ใส่เส้นหมี่” ไม่ค่อยหิวแต่ก็กินเพราะน้ำใจและรอยยิ้มของเจ้าของบ้าน เกือบ 8.30 น. ได้เวลาออกเดินทาง ชาวบ้านและเด็กๆ กุลีกุจอช่วยหิ้วของไปส่งที่ท่าขึ้นเรือ พวกเราถ่ายรูปร่วมกันก่อนที่จะจากลาด้วย รอยยิ้มที่เจือปนความเศร้า เรือค่อยๆ ลอยลำออกจากฝั่ง เสียง “พะแค” หนุ่มน้อยที่พูดภาษาไทยได้และเป็นครูสอนเราตลอดเวลาที่อยู่ในหมู่บ้านตะโกนสั่งลาด้วยภาษาไทยที่ไม่ค่อยชัดนัก “โชคดีนะ” เรือค่อยๆล่องตามสายน้ำทำให้เราเดินทางเร็วกว่าขามา
ถึงแม้จะจากมาพวกเราก็ยัง “คึดนำ” (คิดถึงและเป็นห่วง”) ว่าชาวบ้านที่นี่จะอยู่อย่างไร หากว่ารัฐบาลไทยและพม่าต้องการจะพัฒนาสายน้ำแห่งนี้ให้เป็นเงินขึ้นมา ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนก็ต้องส่งไปให้ “มนุษย์ผู้ไม่รู้จักพอ” ในประเทศไทยได้อยู่อย่างสุขสบายตลอดชั่วลูกหลาน แต่ไม่เคยรับรู้ว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอย่างสะดวกสบายต้องแลกมาด้วย ชีวิตของผู้คน ที่คนในสังคมให้คุณค่าแค่เพียง “มนุษย์ผู้เสียสละ” อีกกี่หมื่นแสนชีวิตของ ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่าแห่งนี้

ก่อน "ปากมูล" จะปิดลงอีกครั้ง โดย ไพรินทร์ เสาะสาย

ปลายเดือนสิงหาคม ก่อนที่ประตูระบายของเขื่อนปากมูลจะปิดลงภายในวันที่ ๑ กันยายนนี้ เรามีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน เรียนรู้ประสบการณ์ของนักสู้แห่งลุ่มน้ำมูน ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนกับรัฐบาล มีผู้คนจากทุกมุมโลกได้เข้ามามาศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าจะเคยมาที่ปากมูนไม่รู้ต่อกี่ครั้ง แต่การมาครั้งนี้ก็นับว่าต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เรามีเพื่อนจากประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง ๖ ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า จีน และไทย เดินทางมาด้วยกัน เราได้มาที่นี่ในหน้าฝน หนองน้ำที่เต็มปริ่ม ทุ่งนารอบศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเต็มไปด้วยสีเขียวขจี บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินแห่งนี้
อาหารแต่ละมื้อก็เป็นเมนูปลาเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงเปิดเขื่อน ชาวบ้านก็เลยหาปลาได้เป็นจำนวนมาก

“แม่พัด” เล่าให้ฟังว่า “แม่ไม่มีนา เลยต้องเป็นแม่ค้าขายของเล็กๆ น้อยในหมู่บ้าน หากช่วงเขื่อนไม่เปิด แม่ขายส้มตำ ไก่ย่าง ของชำในหมู่บ้าน พอมีเงินนิดหน่อย ช่วงที่เขื่อนเปิดแม่ก็เป็นแม่ค้ารับซื้อปลา ปีนี้มีปลาเยอะมาก โดยเฉพาะปลาอีตู๋ บางวันจ่ายเงินซื้อปลาจากชาวบ้านด้วยกันวันละ ๕,๐๐๐ -๒๐,๐๐๐ บาท เลยทีเดียว คนหาปลาก็ได้เงินเยอะ ลูกเมียก็มีความสุข” หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จ เราก็ได้เจอกับนักต่อสู้แห่งลุ่มน้ำมูน ๒ คน คือ พ่อทองเจริญ สีหาธรรมและพ่อสมเกียรติ พ้นภัย สองนักต่อสู้ที่มีบุคลิกคล้ายๆกัน คือ เครายาวสีขาวทั้งคู่ บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนานได้ดี

พ่อทองเจริญ เล่าว่า “ การต่อสู้ของพี่น้องชาวปากมูน ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และหนักหนานัก เพราะเราต้องต่อสู้กับอำนาจของรัฐบาล ต้องต่อสู้กับชาวบ้านที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเรา ต่อสู้กับปัญหาความยากจนเรื่องปากท้อง ต่อสู้กับความชรา โรคภัยต่างๆ ก็มาเยือน ชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐเป็นคนชราส่วนมาก เพราะฉะนั้นพวกเราจึงต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา การต่อสู้ที่ผ่านมา เราเจอกับความรุนแรงมาเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ ถูกลอบยิง เผาหมู่บ้าน ถูกทำร้าย ถูกตำรวจจับ ถูกไล่กลับบ้านในรัฐบาลทักษิณ ฯลฯ เหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่ระลึกจดจำอยู่ในใจพวกเราเสมอ คือ การยึดระเบิด ตอนระเบิดแก่งที่บ้านหัวเห่ว การยึดเขื่อน ๒ ครั้ง ยึดรถไฟไปกรุงเทพฯ การยึดทำเนียบรัฐบาล ของคนจน และการเดินเท้าทางไกลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร บทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมานานกว่า ๒๐ ปี ก็ยิ่งทำให้เราได้ตระหนักได้คิดไตร่ตรองมากขึ้นในชีวิต สิ่งที่พวกเราจดจำอยู่ในใจตลอดเวลา”

พ่อสมเกียรติ เล่าว่า “ ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ที่ผ่านมาของเราคือ ความหนักใจต่อคนในสังคมที่ไม่ยอมเข้าใจในการต่อสู้ของพวกเรา เขามักกล่าวหาว่า เป็นพวกไม่รู้จักพอ คนส่วนน้อยไม่ยอมเสียสละต่อการพัฒนาประเทศ จะให้เราเสียสละได้อย่างไร ในเมื่อคน ๖๓ ล้านคนยังไม่อยากเสียสละ แค่เสียสละจิตใจที่จะเข้าใจความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยังไม่ได้ ทั้งที่เราเป็นผู้ที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาและรักษาธรรมชาติมาไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปี ดูจากภาพเขียนสีที่ผาแต้มก็เป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า บรรพบุรุษของเราพากันอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิของเราที่เราจะปกป้องรักษาธรรมชาติให้อยู่คู่กับเรา”

ภายหลังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้อย่างเมามัน พวกเราก็เดินทางไปดูต้นเหตุแห่งปัญหา นับเป็นโอกาสดีที่เป็นช่วงเขื่อนเปิดประตูระบายน้ำ พวกเรามีโอกาสได้เหยียบย่างเข้าเขตบริเวณหัวงานของโครงการโดยที่ไม่ต้องเข้าไปเจรจาและโต้เถียงกับยามรักษาความปลอดภัยเหมือนทุกครั้ง เรามีโอกาสเข้าไปเหยียบบนสันเขื่อน บันไดปลาโจนที่ทอดตัวยาวลงไปสู่แม่น้ำมูน ไม่มีวี่แววที่ปลาชนิดไหนจะข้ามเข้ามาได้ บานประตูขนาดใหญ่ทั้ง ๘ บานถูกยกขึ้นเหนือสันเขื่อน ทำให้รู้สึกถึงพลังของชาวบ้านปากมูนที่ต่อสู้มานานตลอดเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่ผลักดันให้ประตูเปิดทางให้แม่น้ำมูนได้ไหลเชื่อมหากัน ปลาจากแม่น้ำโขงได้ว่ายเข้ามาวางไข่ในป่าบุ่งป่าทาม ว่ายทวนน้ำขึ้นไปกินเอียดเกลือในช่วงตอนกลางของลุ่มน้ำมูน ตลอดความยาวกว่า ๑ กิโลเมตรของสันเขื่อนและโรงไฟฟ้าที่บางปีผลิตไฟฟ้าได้แค่ ๗ – ๒๑ เมกะวัตต์ แต่ใช้ทุนมหาศาลกว่า ๖,๖๐๐ ล้านบาท ตั้งตระหง่านประจานความล้มเหลวของแนวทางการพัฒนาของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง หลังจากไปดูเขื่อนเสร็จ พวกเรามีโอกาสไปเรียนรู้วิธีการไหลมองที่รวงปลาบ้านหนองโพ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิบูลมังสาหาร เหนือแม่น้ำมูนขึ้นไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาไหลมอง เป็นชาวบ้านที่ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์กับรัฐบาลทั้งนั้น พวกเราทั้ง ๑๔ คนแบ่งกันลงเรือ ๘ ลำ จากนั้นก็ล่องเรือขึ้นไปเหนือแม่น้ำมูนดูวิธีการ “ไหลมอง” ของชาวบ้าน

ระหว่างที่เราไหลมองไปเรื่อยๆ เรือยาวที่บรรทุกชายหนุ่มกว่า ๖๐ คนก็พายเรือทวนน้ำขึ้นมา พ่อจัน บอกว่า “ เรือยาวของเมืองพิบูล เขามาซ้อมไว้แข่งตอนออกพรรษ” “มอง” (ตาข่ายดักปลา) ของพ่อจันมีความยาวกว่า ๑ กิโลเมตร พอไหลเสร็จก็ต้องนั่งอยู่บนเรือจับปลายมองสุดท้ายและนั่งรอเวลา ถ้าหากว่าปลาติดมองจะกระตุก ก็รู้ว่าปลาติดแน่ๆ กว่า ๑ ชั่วโมงที่เราลอยลำอยู่กลางแม่น้ำมูน พ่อจันเริ่มกู้มอง(เก็บมอง) ไม่มีปลาติดสักตัว จนเกือบสุดท้ายพ่อบ่นว่า สงสัยไม่ได้สักตัวแน่เลย ปรากฏว่ามองส่วนสุดท้ายมีปลาอีตู๋น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมติดมองมา เราและเพื่อนคนเวียดนามดีใจกันใหญ่เพราะไม่เคยจับปลาแบบนี้เลย และปรากฏว่า มีเพียงเรือของเราลำเดียวที่ได้ปลา ๑ ตัว เท่านั้น นับเป็นโชคดีครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้สำหรับเรา ก่อนที่จะขึ้นเรือพ่อจันเล่าให้ฟังว่า ปีนี้ปลาขึ้นเยอะมาก เดือนที่แล้วเขาจับปลากระเบนน้ำจืดได้ขนาด ๑๕๐ กิโลกรัมว่ายมาติดมองชาวบ้าน ต้องช่วยกันหลายคนกว่าจะเอาขึ้นมาได้ เราถามพ่อว่าปีนี้ไม่มีใครจับปลาใหญ่เช่น ปลาเอิน ปลากะมันได้เหมือนปีที่แล้วหรือ พ่อบอกว่า “ถ้าหากว่าได้ยินข่าวว่าบ้านไหนจับปลาใหญ่ได้แล้ว แสดงว่า ปลาเริ่มหมดและไม่อพยพมาอีกแล้ว เพราะปลาใหญ่ก็เปรียบเหมือนแม่ของปลา ลูกปลาก็จะอพยพมาก่อน แม่ปลา พ่อปลา จะตามมาทีหลัง” สุดท้ายปลาตัวนั้นก็กลายเป็นอาหารเย็นของเรา

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกสำหรับเราที่ได้เห็นรอยยิ้มและใบหน้าที่อาบอิ่มไปด้วยความสุขของชาวบ้านปากมูน ที่ได้กลับไปทำนาหาปลาอีกครั้ง เพราะส่วนใหญ่เรามักจะเจอชาวบ้านในที่ชุมนุมที่หน้าทำเนียบ เพื่อขอให้เขื่อนเปิดประตูระบายน้ำตรงตามสัญญาแทบทุกปี ก่อนที่พวกเราจะจากมา แม้ข่าวคราวของการหาปลา จับปลาตัวใหญ่ได้ร้อยกว่ากิโล ข่าวชาวบ้านจับปลาร่ำลือกันไปไกลถึงเมืองอุบลเกือบทุกปี ก็ไม่เป็นผลต่อคนในสังคมได้รู้ว่าแม่น้ำมูน ปลา มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างไรบ้าง พ่อบอกว่า อยากให้มาช่วงเกี่ยวข้าวตอนหน้าหนาว “ข้าวใหม่ปลามัน” แต่คงไม่มี “ปลาใหญ่” ให้กิน แต่ก็มี “ปลาร้าในไห” ให้กินก็แล้วกันเด้อลูกหล่า...................

สิงหาคม 2549