วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ก่อน "ปากมูล" จะปิดลงอีกครั้ง โดย ไพรินทร์ เสาะสาย

ปลายเดือนสิงหาคม ก่อนที่ประตูระบายของเขื่อนปากมูลจะปิดลงภายในวันที่ ๑ กันยายนนี้ เรามีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน เรียนรู้ประสบการณ์ของนักสู้แห่งลุ่มน้ำมูน ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนกับรัฐบาล มีผู้คนจากทุกมุมโลกได้เข้ามามาศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าจะเคยมาที่ปากมูนไม่รู้ต่อกี่ครั้ง แต่การมาครั้งนี้ก็นับว่าต่างจากเดิมเป็นอย่างมาก เรามีเพื่อนจากประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง ๖ ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า จีน และไทย เดินทางมาด้วยกัน เราได้มาที่นี่ในหน้าฝน หนองน้ำที่เต็มปริ่ม ทุ่งนารอบศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเต็มไปด้วยสีเขียวขจี บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินแห่งนี้
อาหารแต่ละมื้อก็เป็นเมนูปลาเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงเปิดเขื่อน ชาวบ้านก็เลยหาปลาได้เป็นจำนวนมาก

“แม่พัด” เล่าให้ฟังว่า “แม่ไม่มีนา เลยต้องเป็นแม่ค้าขายของเล็กๆ น้อยในหมู่บ้าน หากช่วงเขื่อนไม่เปิด แม่ขายส้มตำ ไก่ย่าง ของชำในหมู่บ้าน พอมีเงินนิดหน่อย ช่วงที่เขื่อนเปิดแม่ก็เป็นแม่ค้ารับซื้อปลา ปีนี้มีปลาเยอะมาก โดยเฉพาะปลาอีตู๋ บางวันจ่ายเงินซื้อปลาจากชาวบ้านด้วยกันวันละ ๕,๐๐๐ -๒๐,๐๐๐ บาท เลยทีเดียว คนหาปลาก็ได้เงินเยอะ ลูกเมียก็มีความสุข” หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จ เราก็ได้เจอกับนักต่อสู้แห่งลุ่มน้ำมูน ๒ คน คือ พ่อทองเจริญ สีหาธรรมและพ่อสมเกียรติ พ้นภัย สองนักต่อสู้ที่มีบุคลิกคล้ายๆกัน คือ เครายาวสีขาวทั้งคู่ บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมายาวนานได้ดี

พ่อทองเจริญ เล่าว่า “ การต่อสู้ของพี่น้องชาวปากมูน ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และหนักหนานัก เพราะเราต้องต่อสู้กับอำนาจของรัฐบาล ต้องต่อสู้กับชาวบ้านที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับเรา ต่อสู้กับปัญหาความยากจนเรื่องปากท้อง ต่อสู้กับความชรา โรคภัยต่างๆ ก็มาเยือน ชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐเป็นคนชราส่วนมาก เพราะฉะนั้นพวกเราจึงต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา การต่อสู้ที่ผ่านมา เราเจอกับความรุนแรงมาเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ ถูกลอบยิง เผาหมู่บ้าน ถูกทำร้าย ถูกตำรวจจับ ถูกไล่กลับบ้านในรัฐบาลทักษิณ ฯลฯ เหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่ระลึกจดจำอยู่ในใจพวกเราเสมอ คือ การยึดระเบิด ตอนระเบิดแก่งที่บ้านหัวเห่ว การยึดเขื่อน ๒ ครั้ง ยึดรถไฟไปกรุงเทพฯ การยึดทำเนียบรัฐบาล ของคนจน และการเดินเท้าทางไกลกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร บทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมานานกว่า ๒๐ ปี ก็ยิ่งทำให้เราได้ตระหนักได้คิดไตร่ตรองมากขึ้นในชีวิต สิ่งที่พวกเราจดจำอยู่ในใจตลอดเวลา”

พ่อสมเกียรติ เล่าว่า “ ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ที่ผ่านมาของเราคือ ความหนักใจต่อคนในสังคมที่ไม่ยอมเข้าใจในการต่อสู้ของพวกเรา เขามักกล่าวหาว่า เป็นพวกไม่รู้จักพอ คนส่วนน้อยไม่ยอมเสียสละต่อการพัฒนาประเทศ จะให้เราเสียสละได้อย่างไร ในเมื่อคน ๖๓ ล้านคนยังไม่อยากเสียสละ แค่เสียสละจิตใจที่จะเข้าใจความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยังไม่ได้ ทั้งที่เราเป็นผู้ที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาและรักษาธรรมชาติมาไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปี ดูจากภาพเขียนสีที่ผาแต้มก็เป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า บรรพบุรุษของเราพากันอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิของเราที่เราจะปกป้องรักษาธรรมชาติให้อยู่คู่กับเรา”

ภายหลังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้อย่างเมามัน พวกเราก็เดินทางไปดูต้นเหตุแห่งปัญหา นับเป็นโอกาสดีที่เป็นช่วงเขื่อนเปิดประตูระบายน้ำ พวกเรามีโอกาสได้เหยียบย่างเข้าเขตบริเวณหัวงานของโครงการโดยที่ไม่ต้องเข้าไปเจรจาและโต้เถียงกับยามรักษาความปลอดภัยเหมือนทุกครั้ง เรามีโอกาสเข้าไปเหยียบบนสันเขื่อน บันไดปลาโจนที่ทอดตัวยาวลงไปสู่แม่น้ำมูน ไม่มีวี่แววที่ปลาชนิดไหนจะข้ามเข้ามาได้ บานประตูขนาดใหญ่ทั้ง ๘ บานถูกยกขึ้นเหนือสันเขื่อน ทำให้รู้สึกถึงพลังของชาวบ้านปากมูนที่ต่อสู้มานานตลอดเวลาเกือบ ๒๐ ปีที่ผลักดันให้ประตูเปิดทางให้แม่น้ำมูนได้ไหลเชื่อมหากัน ปลาจากแม่น้ำโขงได้ว่ายเข้ามาวางไข่ในป่าบุ่งป่าทาม ว่ายทวนน้ำขึ้นไปกินเอียดเกลือในช่วงตอนกลางของลุ่มน้ำมูน ตลอดความยาวกว่า ๑ กิโลเมตรของสันเขื่อนและโรงไฟฟ้าที่บางปีผลิตไฟฟ้าได้แค่ ๗ – ๒๑ เมกะวัตต์ แต่ใช้ทุนมหาศาลกว่า ๖,๖๐๐ ล้านบาท ตั้งตระหง่านประจานความล้มเหลวของแนวทางการพัฒนาของรัฐอย่างโจ่งแจ้ง หลังจากไปดูเขื่อนเสร็จ พวกเรามีโอกาสไปเรียนรู้วิธีการไหลมองที่รวงปลาบ้านหนองโพ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิบูลมังสาหาร เหนือแม่น้ำมูนขึ้นไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาไหลมอง เป็นชาวบ้านที่ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์กับรัฐบาลทั้งนั้น พวกเราทั้ง ๑๔ คนแบ่งกันลงเรือ ๘ ลำ จากนั้นก็ล่องเรือขึ้นไปเหนือแม่น้ำมูนดูวิธีการ “ไหลมอง” ของชาวบ้าน

ระหว่างที่เราไหลมองไปเรื่อยๆ เรือยาวที่บรรทุกชายหนุ่มกว่า ๖๐ คนก็พายเรือทวนน้ำขึ้นมา พ่อจัน บอกว่า “ เรือยาวของเมืองพิบูล เขามาซ้อมไว้แข่งตอนออกพรรษ” “มอง” (ตาข่ายดักปลา) ของพ่อจันมีความยาวกว่า ๑ กิโลเมตร พอไหลเสร็จก็ต้องนั่งอยู่บนเรือจับปลายมองสุดท้ายและนั่งรอเวลา ถ้าหากว่าปลาติดมองจะกระตุก ก็รู้ว่าปลาติดแน่ๆ กว่า ๑ ชั่วโมงที่เราลอยลำอยู่กลางแม่น้ำมูน พ่อจันเริ่มกู้มอง(เก็บมอง) ไม่มีปลาติดสักตัว จนเกือบสุดท้ายพ่อบ่นว่า สงสัยไม่ได้สักตัวแน่เลย ปรากฏว่ามองส่วนสุดท้ายมีปลาอีตู๋น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมติดมองมา เราและเพื่อนคนเวียดนามดีใจกันใหญ่เพราะไม่เคยจับปลาแบบนี้เลย และปรากฏว่า มีเพียงเรือของเราลำเดียวที่ได้ปลา ๑ ตัว เท่านั้น นับเป็นโชคดีครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้สำหรับเรา ก่อนที่จะขึ้นเรือพ่อจันเล่าให้ฟังว่า ปีนี้ปลาขึ้นเยอะมาก เดือนที่แล้วเขาจับปลากระเบนน้ำจืดได้ขนาด ๑๕๐ กิโลกรัมว่ายมาติดมองชาวบ้าน ต้องช่วยกันหลายคนกว่าจะเอาขึ้นมาได้ เราถามพ่อว่าปีนี้ไม่มีใครจับปลาใหญ่เช่น ปลาเอิน ปลากะมันได้เหมือนปีที่แล้วหรือ พ่อบอกว่า “ถ้าหากว่าได้ยินข่าวว่าบ้านไหนจับปลาใหญ่ได้แล้ว แสดงว่า ปลาเริ่มหมดและไม่อพยพมาอีกแล้ว เพราะปลาใหญ่ก็เปรียบเหมือนแม่ของปลา ลูกปลาก็จะอพยพมาก่อน แม่ปลา พ่อปลา จะตามมาทีหลัง” สุดท้ายปลาตัวนั้นก็กลายเป็นอาหารเย็นของเรา

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกสำหรับเราที่ได้เห็นรอยยิ้มและใบหน้าที่อาบอิ่มไปด้วยความสุขของชาวบ้านปากมูน ที่ได้กลับไปทำนาหาปลาอีกครั้ง เพราะส่วนใหญ่เรามักจะเจอชาวบ้านในที่ชุมนุมที่หน้าทำเนียบ เพื่อขอให้เขื่อนเปิดประตูระบายน้ำตรงตามสัญญาแทบทุกปี ก่อนที่พวกเราจะจากมา แม้ข่าวคราวของการหาปลา จับปลาตัวใหญ่ได้ร้อยกว่ากิโล ข่าวชาวบ้านจับปลาร่ำลือกันไปไกลถึงเมืองอุบลเกือบทุกปี ก็ไม่เป็นผลต่อคนในสังคมได้รู้ว่าแม่น้ำมูน ปลา มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างไรบ้าง พ่อบอกว่า อยากให้มาช่วงเกี่ยวข้าวตอนหน้าหนาว “ข้าวใหม่ปลามัน” แต่คงไม่มี “ปลาใหญ่” ให้กิน แต่ก็มี “ปลาร้าในไห” ให้กินก็แล้วกันเด้อลูกหล่า...................

สิงหาคม 2549

ไม่มีความคิดเห็น: