วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550

“แม่ดึ๊” แห่งสาละวิน โดย ไพรินทร์ เสาะสาย

กลางฤดูฝนแห่งเดือนสิงหาคม ผืนแผ่นดินที่โอบล้อมด้วยภูเขาก็ชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนที่แทบจะไม่เคยขาดเม็ด หลังจากที่เราใช้เวลาในห้องเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สถานการณ์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง โดยมีเพื่อนๆจากประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ คือ ลาว พม่า จีน เวียดนาม กัมพูชา และไทย จำนวน 12 คน มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันที่เชียงใหม่

หลังจากที่เราใช้เวลาเดือนกว่าๆรู้จักสถานการณ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็มีโอกาสช่วงเวลา 3 วันในฤดูฝน ไปที่ “บ้านแม่ดึ๊” ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตชายแดนระหว่างไทยและพม่า เป็นหมู่บ้านที่ตกสำรวจ ชาวบ้านไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีบ้านเลขที่ จึงไม่ถูกระบุอยู่ในสารระบบของหมู่บ้าน สิ่งสำคัญของพวกเราที่ต้องจดจำก่อนเดินทางมาที่แม่น้ำสาละวิน คือ “ห้ามเอ่ย” หรือ พูดอะไรเกี่ยวกับ “แม่น้ำโขง” แม้แต่ชื่อก็ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะผู้คนแถบลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อว่า แม่น้ำทั้งสองมีความขัดแย้งกัน ตามตำนานเล่าถึงการเกิดของแม่น้ำโขง(ลานซาง)และแม่น้ำสาละวิน(นูเจียง) ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนจึงตัดสินใจเดินทางมาพร้อมกันจากทิเบต แข่งกันว่าใครจะไปถึงทะเลก่อนกันโดยมีกติกาว่า ห้ามไหลผ่านภูเขา ปรากฏว่า แม่น้ำสาละวินไหลถึงทะเลก่อนแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจึงกล่าวว่า แม่น้ำสาละวินผิดกติกาเพราะไหลตัดผ่านภูเขา แม่น้ำสาละวินก็ว่าแม่น้ำโขงผิดกติกาไหลผ่านภูเขาเช่นกัน ทั้งสองจึงโต้เถียงกันอย่างรุนแรง ไม่สามารถลงรอยกันได้ กลายเป็นเรื่องเล่าและความเชื่อของชาวบ้านที่อยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน เชื่อว่า หากเอ่ยถึงชื่อ “แม่น้ำโขง”ขณะที่อยู่ที่ “แม่น้ำสาละวิน” จะต้องประสบกับความโชคร้าย เรือจะพลิกคว่ำหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางได้ และเชื่อว่า “หากเอาแม่น้ำสองสายมาผสมกันจะทำให้เกิดหายนะอย่างยิ่งใหญ่” แต่ที่เรารู้ก็คือว่า ในชาวบ้านสองฟากฟั่งแม่น้ำโขงไม่เคยมีเรื่องเล่าและความเชื่อแบบนี้เลย

พวกเราทั้ง 15 คนเดินทางด้วยรถตู้ออกจากเชียงใหม่ตั้งแต่เช้ากว่า 300 กิโลเมตร เรามาถึงอำเภอแม่สะเรียง เกือบบ่ายโมง ไม่มีเวลาสำหรับการเดินเที่ยวสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของเมืองเล็กๆที่มีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติแห่งนี้ โชคดีที่ตรงข้ามร้านอาหารมีแผนที่ท่องเที่ยวที่เป็นภาพวาดทำให้เราได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอำเภอเล็กแห่งนี้ ริมแม่น้ำปาย มีเกสต์เฮ้าหลายแห่งหลากราคา ตามความสมัครใจและน้ำหนักกระเป๋าเงินของนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็น แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา ล่องแก่ง หมู่บ้านชนเผ่า ฯลฯ แต่สิ่งที่แปลกตาเรามากที่สุดคือ วัด ที่เป็นศิลปกรรมแบบพม่า(ไทยใหญ่) ดูยิ่งใหญ่และสวยงามแตกต่างกับวัดในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง
หลังอาหารเที่ยงที่อร่อยล้ำด้วยเมนูปลาแม่น้ำและผัดซาโยเต้สุดฮิต เราก็ออกเดินทางจากตัวเมืองแม่สะเรียงไปยัง “บ้านแม่สามแลบ” กว่า 42 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยความชุ่มชื่น ชุ่มฉ่ำของสายฝนจนเราต้องปิดแอร์ภายในรถเปิดกระจกออกเพื่อสูดกลิ่นหอมของภูเขาและทุ่งข้าวที่เขียวขจีสองข้างทาง ระหว่างทางเราคุยกับ “ คุน ชังกี”เพื่อนชาวพม่าซึ่งเป็นชนเผ่า “ปะโอ” หรือ “ตองสู” เรื่องความแตกต่างระหว่างหมู่บ้านของเขาที่รัฐฉานกับที่นี่ เขาเล่าว่าแตกต่างกันมาก หมู่บ้านของเขาอยู่กลางหุบเขา ภูเขาสูงชันและทำข้าวไร่ไม่ได้ทำนาบนที่ราบแบบนี้ แถมติดตลกว่า “ภูเขาที่บ้านผมอ้วนกว่าภูเขาที่นี่ เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย”
ตลอดเส้นทางที่คดเคี้ยวขึ้นเขา ลงห้วยกว่า 40 กิโลเมตร สองข้างทางเป็นทั้งทุ่งนาเขียวขจี ภูเขากระ หล่ำปลี แม่น้ำสายเล็กๆและ “ฝายน้ำล้น” ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะไกลหรือลึกแค่ไหน แม่น้ำก็ขาดเสรีภาพอยู่เช่นเดิม หลักกิโลเมตรบอกระยะทาง “แม่สามแลบ 3 กม.” ถนนเริ่มแคบลงทำให้เรารู้สึกได้ว่าเริ่มใกล้ถึงที่หมายแล้ว “บ้านแม่สามแลบ” เป็นเขตชายแดนระหว่างพม่าและไทย มีบ้านของผู้คนตั้งเรียงรายริมถนน เป็นทั้งบ้านและร้านขายของ คนในหมู่บ้านเป็นชาวปะกากญอ เป็นท่าจอดเรือขนส่งสินค้าระหว่างพม่าและไทย มีสำนักงานอุทยานแห่งชาติสาละวินและหน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ฝั่งไทย ส่วนฝั่งพม่าเป็นเขตควบคุมของรัฐบาลทหารของพม่า “ชังคี” เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเป็นเขตของกลุ่มทหาร KNU (Karen National Union) เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังทหาร KNUและทหารพม่าและฝ่ายทหารพม่าเป็นฝ่ายชนะ กลุ่มKNUต้องถอยออกไปและทิ้งเครื่องมือ เครื่องจักรกลสำหรับการตัดไม้และทำถนนไว้มากมายจมอยู่ใต้ผืนน้ำสาละวินแห่งนี้ เพราะฉะนั้นฝั่งตรงข้ามของแม่สามแลบจึงเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังทหารพม่าฝ่าย SPDC(State Peace Development Council)
การเดินทางของพวกเราในครั้งนี้มี “ไผ่” หรือ เพียรพร ดีเทศน์ จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEARIN) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน น้องๆในโครงการเป็นผู้นำทางพาเราไปยังบ้านแม่ดึ๊ ด้วยเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกคนได้ประมาณเกือบ 30 คน ล่องทวนแม่น้ำสาละวินขึ้นไปทางทิศตะวันตก
แม่น้ำสาละวินในฤดูฝนช่างน่ากลัวน่าเกรงขามยิ่งนัก แม่น้ำสีแดง ไหลเชี่ยวกรากมาก ใต้ผืนน้ำกว่า 40 เมตร เต็มไปด้วยแก่งหินขนาดใหญ่ สังเกตได้จาก “กระแสน้ำ” บริเวณนั้นจะไหลเชี่ยวกราก คนขับเรือและนายท้ายจะต้องรู้จักเส้นทางอย่างดีเพื่อที่จะขับเรือฝ่าขึ้นไปให้ได้ ตลอดสายน้ำที่เราล่องขึ้นก็มีเศษขอนไม้ลอยตามน้ำมาเป็นระยะๆ สองฝากฝั่งเป็นภูเขาสูงขนาบทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า แตกต่างกันตรงที่ภูเขาฝั่งพม่าดูอุดมสมบูรณ์กว่าฝั่งไทยมาก เพราะไม่มีคนอยู่อาศัยและเป็นพื้นที่สู้รบกันมาก่อน ภายใต้ผืนป่าอันเขียวขจีนั้นบางแห่งเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินหรือ “Landmine” สองฟากฝั่งมีหมู่บ้านกลุ่มเล็กกระจายอยู่เล็กน้อยตามริมฝั่ง เราผ่านจุดด่านตรวจของตำรวจไทย ที่บ้านท่าตาฝั่งในเขตของไทยเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย
กว่า 2 ชั่วโมง เราก็มาถึงบ้านแม่ดึ๊ เกือบ 5 โมงเย็น ชาวบ้านและเด็กๆมายืนรอรับ ยิ้มทักทายพวกเราพร้อมกับกุลีกุจอเข้ามาช่วยถือของแบกของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเราตื่นเต้นทำอะไรไม่ถูกกัน สิ่งแรกที่ทำคือ ยิ้ม เพราะเราพูดภาษาปกากะญอไม่ได้ เราเดินผ่านหมู่บ้านที่ปลูกด้วยไม้ไผ่แบบเรือนผูก ที่เรียงรายระหว่างทางเดิน ไปยังบ้านครูประจำโรงเรียนเพื่อแบ่งกลุ่ม พักบ้านของชาวบ้าน โดยมีเกณฑ์สำคัญคือ บ้านที่อยู่ใกล้ห้องน้ำที่สุดนั่นเอง พร้อมกับการแจกจ่ายอาหารแห้ง ข้าวสารและน้ำ สำหรับการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านตลอดเวลา 3 วัน เพราะชาวบ้านไม่ได้มีอาหารเพียงพอสำหรับพวกเรา
“บ้าน” ที่เราอยู่ด้วยเป็นร้านขายของชำประจำหมู่บ้านเจ้าของบ้านชื่อ “ทาเคือแป” สามีของเธอไปขับเรือที่บ้านแม่สามแลบยังไม่กลับมา เธอมีลูก 3 คนเป็นหญิง 2 คนและชาย 1คน และมีน้องสาวอยู่ด้วยอีก 1 คน เธอมีบ้าน 2 หลัง อีกหลังหนึ่งเป็นครัว ใต้ถุนบ้านเป็น “ครก” (ภาษาอีสานเรียกว่า ครกมอง) ตำข้าว ที่เก็บฟืน ข้างๆเป็นคอกหมูพื้นบ้าน อีกหลังเป็นร้านขายของห้องนอน กลุ่มเรามี 4 คน คือ “ฮู จิง(Hu Jing)” เพื่อนชาวจีน “ลาน(Lanh) และอัน(Anh)” เพื่อนชาวเวียดนาม อากาศเริ่มเย็น ความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามา พวกเรารีบไปอาบน้ำ ที่ลำห้วยกลางหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันทั้งหมู่บ้านโดยใช้ไม้ไผ่แทนท่อประปาที่เราคุ้นเคย ทำให้เราตื่นเต้นกับการอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติ น้ำเย็นๆจากลำห้วยทำให้เราสดชื่นขึ้นมาทันที หลังอาบน้ำเราก็ต้องรีบกินข้าวเย็นเพราะหมู่บ้านนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพียง 1 ทุ่มเศษก็มืดสนิทแล้ว อาหารของเราเป็นฝีมือของคนเวียดนามคือ “แกงจืดใส่แหนม” รสชาติแปลกๆ แต่ก็ต้องกินแบบไม่ต้องคิดมาก คืนแรกที่บ้านแม่ดึ๊เราต้องนอนแต่หัวค่ำเพราะธรรมชาติบังคับ แต่เราก็นอนหลับไปโดยไม่รู้ตัว

“ เว่ยจี” ผู้กำหนดชะตากรรม แม่ดึ๊
เช้าวันใหม่เราตื่นแต่เช้าอากาศเย็นสบาย บนยอดภูเขาสูงมีหมอกหนาคลุมอยู่ยังไม่คลายตัว สีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ที่ยังไม่คลายความชุ่มชื้นจากหยดน้ำฝนที่ตกปรอยในตอนเช้า สวยจนต้องยืนชื่นชมอยู่เป็นนาน น้องสาวเจ้าของบ้านหุงข้าวไว้ให้แล้วก็ออกไปไร่ตั้งแต่เช้า วันนี้พวกเรามีโอกาสออกไปดูพื้นที่จะสร้างเขื่อน “เว่ยจี” โดย “ไผ่”และทีมเป็นผู้นำทาง เราเดินทางด้วยเรือลำเดิม ล่องทวนขึ้นไปเหนือน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง พวเราหยุดเรือบริเวณที่มีหาดทรายและนั่งลงคุยกัน โดยมีเอ็นจีโอชาวพม่าคือ KRW (Karen River Watch) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย เมื่อเราได้พูดคุยกันเรื่องเขื่อนที่จะเกิดขึ้น เรากับเพื่อนๆ ได้แต่ยืนมองภูเขาเบื้องหน้าและคุยกันว่า “ถ้าหากว่าเขื่อนถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ มันคงสูงเท่าภูเขาเบื้องหน้าเราแน่ๆ เลย แล้วชาวบ้านที่ซ่อนตัวอยู่สองฝั่งทั้งไทยและพม่าจะอยู่อย่างไร ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

“ภูเขาข้าวไร่” ความมั่นคงอาหารและชีวิต
วันต่อมาพวกเรามีโอกาสไปเที่ยวไร่ข้าวของชาวบ้าน เราต้องห่อข้าวด้วยใบตอง เตรียมขวดน้ำ ใส่ตระกร้าให้เราสะพายไปไร่ เพื่อไปดูแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านแม่ดึ๊ สองข้างทางเป็นร่องรอยการทำข้าวไร่ของชาวบ้านมาก่อน ชาวบ้านที่นี่ทำข้าวไร่แบบหมุนเวียน ทุกๆ ๕ ปีจะกลับมาที่เดิม พึ่งรู้ว่าการเดินขึ้นภูเขามันเหนื่อยมาก จนหายใจแทบไม่ทัน ขบวนของพวกเราที่เดินมาตั้งแต่แรก เริ่มขาดห้วงเป็นตอนๆ กว่า 40 นาทีที่เดินและแล้วก็มาถึงจุดหมายปลายทางไร่ข้าวเขียวขจีกว่า 10 ไร่ โอ้โห้ สีเขียวสุดๆลูกหูลูกตา ไกลจนเราอยากจะเรียกว่า “ภูเขาข้าวไร่” ซะมากกว่า สีเขียวของไร่ข้าวทำให้เราหายเหนื่อยไปทันที นั่งพักสักครู่แล้วก็เริ่มคิดในใจว่า ทำไม “มนุษย์” ถึงมีพลังมากมายขนาดนี้ คิดค้นหาวิธีการการอยู่รอดของชีวิต
หลังจากนั่งพักเหนื่อย เราก็คุยกันเรื่องการทำข้าวไร่ โดยมี “พ๊ะดีดี” หนุ่มน้อยชาวปะกากะญอ ครูของเด็กๆ เป็นผู้ช่วยสื่อสารกับชาวบ้านให้เรา ข้าวไร่ของชาวบ้านเป็นพันธุ์พื้นบ้านทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว พร้อมกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ สลับอยู่ระหว่างหลุมข้าวประมาณ 100 ชนิด กลายเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่งจริงๆ ข้าวที่ชาวบ้านปลูกจะมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันออกไป บางพันธุ์อายุสั้นเพียง 3 เดือน ก็เก็บเกี่ยวที่อีสานเรียกว่า “ข้าวดอ” (ข้าวอายุสั้นที่เก็บเกี่ยวก่อนฤดูเก็บเกี่ยว) ส่วนบางพันธุ์ใช้เวลา 6-7 เดือนจึงเก็บเกี่ยว การทำข้าวไร่ขึ้นอยู่กับกำลังแรงงานและความพอเพียงสำหรับทุกคนในครอบครัวในรอบปี หากบางปีข้าวไม่พอกินก็ขอยืมเพื่อนบ้านกินก่อนได้ หรือต้องหาหน่อไม้ ปลา ไปแลกกับเพื่อนบ้านโดยเดินข้ามภูเขาไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
“การปลูกข้าวไร่” ของชาวบ้านที่นี่ก็เต็มไปด้วยความเชื่อที่สั่งสมและสืบทอดกันมาหลายชั่วคน คอยควบคุมผู้คนให้ทำการผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติได้ เช่น พิธีกรรมการเลี้ยงผีห้วย เลี้ยงผีป่าผู้ศักดิ์สิทธิ์ให้คอยดูแลคุ้มครองชีวิตและคุ้มครองข้าวของชาวบ้าน ,พิธีการทดลองปลูกข้าว 7 หลุม หากข้าวงอกทั้ง 7 หลุมแสดงว่า เจ้าป่าเจ้าเขาอนุญาตให้ปลูกข้าวในพื้นที่แห่งนั้นได้อุดมสมบูรณ์ ถ้าหากไม่ขึ้นทั้ง 7 หลุมและมีคนฝืนปลูก ก็จะต้องพบกับความเจ็บป่วยโชคไม่ดีและอาจถึงตายได้ ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีของชาวบ้านจะใช้ “ไก่” เป็นหลัก หากเป็นช่วงแรกระหว่างการปลูกข้าวต้องใช้ไก่ประมาณ 6 ตัว หรือถ้าหากมีหมูก็ใช้หมู ร่วมกับไก่ก็ได้ ไม่แปลกใจที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะเลี้ยงหมู่และไก่ไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนกินข้าวเที่ยงเราคุยกันมากมายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมทั้งเรื่องเขื่อนที่กำลังจะสร้างและพวกเขาต้องต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
พ๊ะตี พะเมียว บอกว่า “พวกเรารู้ว่าเขาจะสร้างเขื่อน แต่เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พวกเราเหมือนคนไม่สิทธิ์ ถึงอยู่แผ่นดินไทยแต่ก็ไม่มีบัตรประชาชน ไม่อยากจะย้ายไปอยู่ที่ไหนอีกแล้ว ถึงแม้ว่าเค้าจะหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้มีไฟฟ้าใช้ มีบ้านให้อยู่ใหม่ ก็คงไม่อยากเอา เพราะไฟฟ้ามันกินไม่ได้ ไฟฟ้าที่จะผลิตก็จะส่งไปให้คนเมือง พวกเราคงไม่มีทางได้ใช้แน่นอน หากเขื่อนสร้างมาจริงๆ เราก็คงจะต้องยอมตายอยู่ที่นี่ไม่ย้ายไปไหนอีกแล้ว ความสุขของเราคือ การได้อยู่แบบนี้ ได้อยู่ร่วมกัน ตื่นเช้ามาได้ไปไร่ อยู่กับธรรมชาติ คือ สิ่งที่มีความสุขที่สุดแล้ว”
อาหารเที่ยงของเราในวันนั้นเป็นอาหารธรรมชาติหม้อใหญ่คือ ต้มหน่อไม้ใส่เห็ดหรือ “กือ” ใส่เกลือนิดหน่อยแต่อร่อยนักแล พวกเรากินข้าวกันกลางทุ่งข้าวที่เขียวขจีด้วยความเอร็ดอร่อย จนแกงหมดหม้อ “ไผ่”และน้องๆ เสนอว่าตอนเย็นเราน่าจะได้กินข้าวเย็นกับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน โดยมีหมูพื้นบ้านตัวโตต้มใส่ผงกระหรี่หอมๆ เป็นอาหารเย็น ชาวบ้านมาเกือบหมดทั้งหมู่บ้านจริง เป็นเด็กๆครึ่งหนึ่งผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่ง หลังอาหารเย็นเรา ได้มอบอุปกรณ์การเรียน ทุนการศึกษาสำหรับพัฒนาโรงเรียนให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนการแสดงระหว่างเด็กๆ บ้านแม่ดึ๊ เพื่อนๆ จากลุ่มน้ำโขงร้องเพลง ฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน ด้วยตะเกียงเพียงดวงเดียวกับดาวบนฟ้านับล้านดวง
ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการเล่น “เตหน่า”ของ “หนุ่มดู” หนุ่มน้อยปะกากะญอที่มือสวยแถมเล่นเตหน่าเก่งอีกต่างหาก ด้วยเพลง “เดือนเพ็ญ” ภาษาปะกากะญอ เราก็ร้องเป็นภาษาไทยแบบกะท่อนกะแท่น คืนนั้นพวกเราทุกคนเต็มไปด้วยความสุข ความทรงจำที่ดี นอนฟังเสียงลำห้วยกลางหมู่บ้านที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ที่ดังคล้ายเสียงฝนตกจนหลับไปไม่รู้ตัว
วันสุดท้ายพวกเราตื่นแต่เช้า ร่ำลาห้องน้ำธรรมชาติด้วยการอาบน้ำตอนเช้าตั้งแต่ 6 โมงเช้า เตรียมตัวออกเดินทาง คิดว่าคงไม่กินข้าวเช้า แต่พี่สาวเจ้าของบ้านใจดีทำอาหารให้กินตอนเช้าเป็น “หมูต้มผงกระหรี่ใส่เส้นหมี่” ไม่ค่อยหิวแต่ก็กินเพราะน้ำใจและรอยยิ้มของเจ้าของบ้าน เกือบ 8.30 น. ได้เวลาออกเดินทาง ชาวบ้านและเด็กๆ กุลีกุจอช่วยหิ้วของไปส่งที่ท่าขึ้นเรือ พวกเราถ่ายรูปร่วมกันก่อนที่จะจากลาด้วย รอยยิ้มที่เจือปนความเศร้า เรือค่อยๆ ลอยลำออกจากฝั่ง เสียง “พะแค” หนุ่มน้อยที่พูดภาษาไทยได้และเป็นครูสอนเราตลอดเวลาที่อยู่ในหมู่บ้านตะโกนสั่งลาด้วยภาษาไทยที่ไม่ค่อยชัดนัก “โชคดีนะ” เรือค่อยๆล่องตามสายน้ำทำให้เราเดินทางเร็วกว่าขามา
ถึงแม้จะจากมาพวกเราก็ยัง “คึดนำ” (คิดถึงและเป็นห่วง”) ว่าชาวบ้านที่นี่จะอยู่อย่างไร หากว่ารัฐบาลไทยและพม่าต้องการจะพัฒนาสายน้ำแห่งนี้ให้เป็นเงินขึ้นมา ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนก็ต้องส่งไปให้ “มนุษย์ผู้ไม่รู้จักพอ” ในประเทศไทยได้อยู่อย่างสุขสบายตลอดชั่วลูกหลาน แต่ไม่เคยรับรู้ว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอย่างสะดวกสบายต้องแลกมาด้วย ชีวิตของผู้คน ที่คนในสังคมให้คุณค่าแค่เพียง “มนุษย์ผู้เสียสละ” อีกกี่หมื่นแสนชีวิตของ ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นพม่าแห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น: